วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13

  "หัตถกรรมพื้นบ้าน"  เป็นประยุกต์ศิลป์หรือศิลปะที่มีประโยชน์ใช้สอยประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านธรรมดา เป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นผู้สร้างเครื่องมือ  ภาชนะ  สำหรับใช้เองในชีวิตประจำวัน    นอกจากนี้ยังมีหัตถกรรมพื้นบ้านอยู่อีกสองลักษณะ คือ งานหัตถกรรมที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนในอีกระดับหนึ่ง หรืออีกสังคมหนึ่งคือ  ขุนนาง  ข้าราชการ และพระมหากษัตริย์  และลักษณะสุดท้ายคือ งานหัตถกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อสนองความเชื่อของตนในพิธีกรรมต่างๆ และในพระศาสนา ในที่นี้ผู้เขียนใคร่จะขอกล่าวถึงแต่งานหัตถกรรมที่ชาบ้านสร้างขึ้นเพื่อ ใช้สอยเองและใช้ในระหว่างชาวบ้านด้วยกันเท่านั้น
           หัตถกรรมดังกล่าวนี้มีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งจะขอกล่าวตามลักษณะของวัสดุและเทคนิคการทำ อันมีอยู่ทั้งสิ้น ๙ ชนิดด้วยกัน คือ
           ๑. เครื่องไม้
           ๒. เครื่องจักสาน
           ๓. เครื่องดิน
          ๔. เครื่องทอ (เครื่องผ้า)
          ๕. เครื่องรัก
          ๖. เครื่องโลหะ
          ๗. เครื่องหนัง
          ๘. เครื่องกระดาษ
          ๙. เครื่องหิน
           หัตถกรรมชนิดต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ชาวบ้านสร้างขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเองเป็นส่วนมากและ มิได้นำไปผสมกับวัตถุเทียมอื่นใดเลย  แต่พอมาถึงปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีส่วนทำให้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ   มีการนำเอาวัสดุเทียมมาใช้ประกอบในการทำงานหัตถกรรมอย่างไม่สามารถจะหลีก เลี่ยงได้ ซึ่งนับว่าเป็นการลดคุณค่าทางสุนทรียภาพของหัตถกรรมพื้นบ้าน  อย่างไรก็ตาม สภาพเช่นนี้บังเกิดขึ้นเสมอมา จึงสมควรที่เราจะต้องทำการอนุรักษ์เอาไว้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถจะทำ ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น